-
- ข้อมูล อบต.
- ข่าว/กิจกรรม
- ข้อมูลการดำเนินงาน
- การป้องกันการทุจริต
- บริการประชาชน
ประวัติความเป็นมา : ถ้ำครกเป็นถ้ำทะลุตลอดภูเขาลูกหนึ่ง บริเวณภายในถ้ำและตามซอกหินมีพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบงานศิลปกรรมที่เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำ และภาพเขียนสีแสดงเรื่องราวพุทธประวัติอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อไรและใครเป็นผู้สร้าง
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานงานศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำครกสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าถ้ำครกแห่งนี้น่าจะใช้เป็นวิหารถ้ำหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชุมชนในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากสภาพถ้ำที่มีความเหมาะสมทั้งขนาดที่ไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไปนัก มีแสงสว่างที่เพียงพอ รวมทั้งไม่มีสภาพความอับชื้น เนื่องจากเป็นถ้ำทะลุจึงมีอากาศถ่ายเท ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นศาสนสถาน โดยในพื้นที่ใกล้เคียงกับถ้ำครก ก็มีวิหารถ้ำอีกแห่งหนึ่งคือ “ถ้ำตลอด” ซึ่งเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนมากที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่ถ้ำครก นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังพบความนิยมในการใช้ถ้ำเพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในที่อื่นๆ ด้วย เช่น วัดถ้ำคูหาภิมุข และถ้ำศิลป์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สำหรับถ้ำครกจากลักษณะศิลปกรรมภายในถ้ำสามารถกำหนดอายุเบื้องต้นได้ว่า งานศิลปกรรมบางส่วนน่าจะสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยอยุธยา และได้มีการบูรณะซ่อมแซมหรือสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์
สิ่งสำคัญ : ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักรบันทึกสิ่งสำคัญภายในถ้ำครกไว้ว่า ภายในถ้ำมีพระนั่งทั้งหมดราว ๓๐ องค์ ก่อด้วยปูนขาวองค์ใหญ่หน้าตัก ๓ ศอก นอกจากนี้ขนาดองค์ถัดๆ กันไป
ถ้ำครกมีลักษณะเป็นถ้ำของภูเขาหินปูนขนาดเล็กที่ทะลุตลอดภูเขาสภาพของถ้ำมีเพิงและโพรงถ้ำอยู่หลายแห่ง สภาพของถ้ำที่ทะลุตลอดนั้นเป็นถ้ำที่วางตัวตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดถ้ำทะลุมีความยาวประมาณ ๕๒.๖๐ เมตร บริเวณปากถ้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือกว่างประมาณ ๘ เมตร และบริเวณปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือกว้างประมาณ ๑๑ เมตร สภาพปัจจุบันภายในถ้ำมีการดัดแปลงส่วนพื้นถ้ำบางส่วนโดยการทำเป็นพื้นคอนกรีต แต่สภาพพื้นผิวส่วนใหญ่ภายในถ้ำถูกปรับถมด้วยดินทราย
ถ้ำครกมีลักษณะเป็นโบราณสถานประเภทวิหารถ้ำ โดยภายในถ้ำประดิษฐานรูปเคารพและวาดภาพลงสีในพุทธศาสนาไว้ตามผนังและโพรงถ้ำหลายแห่ง โดยสามารถกำหนดกลุ่มงานศิลปกรรมภายในถ้ำครกได้ดังนี้
๑.๑ ) พระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน ๗ องค์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัยและพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทปางป่าเลไลยก์ ลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวส่วนใหญ่แสดงฝีมือช่างพื้นถิ่น มีพระพักตร์เรียวรูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำเม็ดพระศกเป็นหนามแหลม ชายสังฆาฏิยาวตัดตรง บริเวณพระโอษฐ์และส่วนองค์พระบางส่วนเหลือร่องรอยสีแดง
๑.๒) เจดีย์ จำนวน ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่เยื้องๆ กับประติมากรรมพระพุทธรูปปูนปั้นด้านซ้ายมือ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและองค์เจดีย์ ส่วนยอดหักหายเหลือเพียงส่วนปล้องไฉนปล้องแรกความสูงขององค์เจดีย์ประมาณ ๑ เมตร มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมสูงประมาณ ๔๐ เซนติเมตร
๒. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๒ ตั้งอยู่บริเวณปากถ้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือโดยอยู่เยื้องกับศิลปกรรมกลุ่มที่ ๑ ประกอบด้วยประติมากรรมนูนสูงแสดงพระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่บนผนังและโพรงถ้ำ ที่มีความยาวประมาณ ๗.๘๐ เมตร มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย ลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวส่วนใหญ่แสดงฝีมือช่างพื้นถิ่นมีพระพักตร์เรียวรูปไข่พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกเป็นหนามแหลมบริเวณพระโอษฐ์ทาสีแดง ส่วนองค์พระทาสีทอง
๓. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๓ ตั้งอยู่บริเวณโพรงด้านทิศเหนือของตัวถ้ำโดยอยู่ใกล้กับศิลปกรรมกลุ่มที่ ๔ ประกอบด้วยประติมากรรมนูนสูงแสดงพระพุทธรูปและเจดีย์ โดยมีพื้นที่โพรงถ้ำที่มีความยาวประมาณ ๗ เมตร ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ดังนี้
๓.๑) พระพุทธรูป
- พระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หันพระพักตร์เข้าสู่ลานภายในถ้ำจำนวน ๑ องค์ ชาวทิ้งถิ่นเรียกกันว่า “ หลวงพ่อใหญ่” มีขนาดสูง ๒.๒๕ เมตร หน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร พระพุทธรูปดังกล่าวแสดงฝีมือช่างพื้นถิ่น มีพระพักตร์เรียวรูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกเป็นหนามแหลม ชายสังฆาฏิตัดตรง
- กลุ่มพระพุทธรูปประทับนั่งหันหน้าเข้าหากัน จำนวน ๒๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในโพรงถ้ำ มีขนาดขององค์พระใกล้เคียงกัน เช่น ขนาดหน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร สูง ๙๗ เซนติเมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร สูง ๗๕ เซนติเมตร และขนาดหน้าตักกว้าง ๔๕ เซนติเมตร สูง ๗๕ เซนติเมตร
สภาพปัจจุบันของพระพุทธรูปกลุ่มดังกล่าว บางองค์อยู่ในสภาพชำรุดลักษณะทั่วไปของพระพุทธรูปส่วนใหญ่แสดงฝีมือช่างพื้นถิ่น มีพระพักตร์เรียวรูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกเป็นหนามแหลมบริเวณองค์พระบางองค์เหลือร่องรอยสีแดง (ชาด) และบางองค์เหลือร่องรอยการลงรักปิดทองหรือทาสีทองบริเวณองค์พระอย่างชัดเจน
๔. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๔ ตั้งอยู่บริเวณผนังตอนกลางของถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปและเจดีย์ขนาดเล็ก ในพื้นที่ความยาวประมาณ ๑.๘๐ เมตร
๕. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๕ ตั้งอยู่บริเวณผนังถ้ำด้านทิศเหนืออยู่เยื้องกับศิลปกรรมกลุ่มที่ ๔ ประกอบด้วยพระพุทธรูปและเจดีย์ขนาดเล็ก ดังนี้
๕.๑) พระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่ใกล้กับเจดีย์ขนาดเล็ก ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๙๙ เซนติเมตร สูงประมาณ ๙๙ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย
- พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัยบนปัทมาสน์ ขนาด หน้าตักกว้างประมาณ ๙๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๗๐ เมตร ฐานสูง ๑.๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๑.๒๐ เมตร ด้านล่างของฐานตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นลงสีเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
- ประติมากรรมปูนปั้นพระสาวก ขนาดสูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร นอกจากนี้บริเวณผนังด้านข้างของพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งบนปัทมาสน์ ยังมีกลุ่มพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเล็ก ปางป่าเลไลยก์และปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่
๕.๒) เจดีย์
- (จากด้านซ้ายมือ) เป็นเจดีย์ปูนปั้นนูนสูงประดิษฐานอยู่ติดกับผนังถ้ำ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังสูงประมาณ ๘๓ เซนติเมตร ฐานกว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร
- เป็นเจดีย์ปูนปั้นทรงระฆังขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร ฐานกว้างประมาณ ๒๖ เซนติเมตร
- เป็นเจดีย์ปูนปั้นทรงระฆังขนาดเล็กสูงประมาณ ๗๒ เซนติเมตร ฐานกว้างประมาณ ๓๗ เซนติเมตร
๖. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๖ ตั้งอยู่บริเวณผนังตอนกลางของถ้ำเยื้องกับศิลปกรรมกลุ่มที่ ๕ มีลักษณะเป็นจิตรกรรมบนผนังถ้ำที่มีความยาวของพื้นที่ประมาณ ๑.๖๐ เมตร รายละเอียดดังนี้
- จิตรกรรมบนผนังถ้ำ อยู่ในสภาพค่อนข้างลบเลือน ร่องรอยที่ปรากฎอยู่เป็นภาพเขียนด้วยสีขาวและสีแดง เป็นภาพบุคคลจำนวน ๔ คนนั่งอยู่บนหลังช้าง ใกล้กับต้นไม้ และมีภาพบุคคลกำลังเดินอยู่ ๒ คน ในทิศทางตรงกันข้ามกับการก้าวเดินของช้างสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง
๗. ศิลปกรรมกลุ่มที่ ๗ ตั้งอยู่บริเวณผนังด้านทิศใต้ของปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นงานศิลปกรรมปูนปั้นนูนต่ำ และพระพุทธรูปนูนสูง รายละเอียดดังนี้
๗.๑) พระพุทธรูป
- พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ส่วนเศียรชำรุด ขนาดหน้าตัก กว้างประมาณ ๕๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร
๗.๒) ประติมากรรมนูนต่ำ
- อยู่บนผนังถ้ำ ด้านทิศใต้ของปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะเป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำแสดงเรื่องราวทางพุทธศาสนาอยู่บนผนังถ้ำที่สกัดเป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่มีความยาวประมาณ ๓.๗๐ เมตร สูง ๑ เมตร ประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำลงสีหลักด้วยสีเขียว แดง ดำ และสีเหลือง เป็นภาพนรกภูมิ ได้แก่ ภาพคนที่ตกนรกกำลังได้รับการทำโทษ โดยการทิ่มแทงผู้ที่ปีนต้นงิ้ว คนอยู่ในกระทะ และคนที่ถูกฉีกทึ้งร่างกาย
การศึกษาเปรียบเทียบและกำหนดอายุ : เมื่อพิจารณาร่องรอยหลักฐานงานศิลปกรรมที่เหลืออยู่ภายใน ถ้ำครก พบว่าเป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นบนผนังถ้ำและโพรงหลืบถ้ำ โดยประกอบด้วยงานประติมากรรมปูนปั้นนูนสูง งานประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำ และภาพจิตรกรรม โดยได้ดัดแปลงสภาพผนังหรือพื้นถ้ำบางส่วนให้มีความเหมาะสมในการประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนใหญ่จะประดิษฐานไว้บนผนัง ถ้ำที่สูงกว่าพื้นถ้ำในระดับที่เหมาะสมต่อการเคารพสักการะบูชา รูปแบบการสร้างศิลปกรรมภายในถ้ำดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิหารถ้ำแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทยที่กำหนดอายุตั้งแต่ยุคก่อนสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ถ้ำสิงขรและถ้ำคูหา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น รวมทั้งยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับคติการสร้างวิหารถ้ำที่ ถ้ำศิลป์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นวิหารถ้ำในพุทธศาสนาที่ตกแต่งผนังภายในถ้ำด้วยภาพเขียนเรื่องราวทางศาสนาอย่างสวยงาม และถ้ำวัดคูหาภิมุข ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ไว้ภายในถ้ำและประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยหลายองค์
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปภายในถ้ำครก เช่น ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปประทับนั่งปางป่าเลไลยก์ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั้นเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาและนิยมสร้างกันสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ประติมากรรมนูนต่ำที่แสดงเรื่องราวทางพุทธศาสนาตอนต่างๆ ภายในถ้ำครก ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนรกภูมิ หรือลักษณะของลวดลายพรรณพฤกษาบางส่วนนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิหารถ้ำที่ถ้ำสิงขรและถ้ำคูหา จังหวดสุราษฎร์ธานี และวัดคูหาภิมุข อำเภอเมือง จังหวัดยะลา แต่ลักษณะที่พิเศษของถ้ำครก คือ การให้ความสำคัญกับการเคารพบูชาองค์เจดีย์อย่างชัดเจนกว่าวิหารถ้ำแห่งอื่น
จากร่องรอยศิลปกรรมภายในถ้ำครก สันนิษฐานได้ว่าศิลปกรรมบางส่วนน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น พระพุทธรูปขนาดใหญ่หลายองค์และมีการบูรณะซ่อมแซม หรือสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ภาพจิตรกรรมรูปบุคคลนั่งบนหลังช้าง เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของถ้ำครกนั้น ตามคำบอกเล่ามีหลายอย่าง แต่พอสรุปได้ว่า เนื่องจากภาพในถ้ำ ซึ่งเป็นโบราณสถานมานาน ประมาณ 200 กว่าปี และคนสมัยนั้นไม่ได้มีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนสมัยปัจจุบัน จึงได้อาศัยอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้ เมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สามารถออกไปหาหมอได้ เพราะการเดินทางลำบากมาก จึงได้อาศัยหมอชาวบ้านตำยารักษา โดยการยึดบ่อหินที่น้ำหยดเป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อตำยารักษาชาวบ้านในสมัยนั้น จึงได้เรียกกันติดปากว่า ถ้ำครก มาจนถึงทุกวันนี้
การกำหนดอายุสมัย : สมัยอยุธยา
การประกาศขึ้นทะเบียน : กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานถ้ำครกในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๑๕